วิลาวรรณ พุทธรักษ์, พย.บ. (พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต )

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความพร้อมก่อนจำหน่าย
ออกจากโรงพยาบาล ได้แก่ จำนวนวันนอนในโรงพยาบาล การให้ความหมายเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการสอน
ก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ตามทฤษฎีการเปลี่ยนผ่าน (Meleis, Sawyer, Im, Messias, & Schumacher,
2000) คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด เป็นผู้ป่วยกระดูกขาหักชนิดปิดที่ได้รับการผ่าตัดยึดตรึง
กระดูกภายใน ที่รักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจำนวน 120 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการ
วิจัย ได้แก่แบบสอบถามการรับรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วย แบบสอบถามคุณภาพการสอนก่อนจำหน่ายออกจาก
โรงพยาบาล และแบบสอบถามการรับรู้ความพร้อมต่อการออกจากโรงพยาบาล ตรวจสอบความเชื่อมั่นได้ค่า
สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ .78, .95 และ .90 ตามลำดับ เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม
พ.ศ.2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์พ.ศ.2564 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และหาค่าความสัมพันธ์ด้วยสถิติ
สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพร้อมก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลอยู่ในระดับสูง
(M = 156.82, S.D. = 15.65) โดยมีจำนวนวันนอนในโรงพยาบาลน้อยกว่าจำนวนวันที่กำหนดโดยนโยบายควบคุม
ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยการเหมาจ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ของกลุ่มโรคร่วม
(Diagnosis Related Groups: DRG) (M = 5.29, S.D. = 2.03 ) ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างได้มีการให้ความหมายเกี่ยวกับ
การเจ็บป่วยไปในด้านลบ (M = 105.46, S.D. = 5.75) และรับรู้คุณภาพการสอนก่อนจำหน่ายออกจาก
โรงพยาบาลของพยาบาลอยู่ในระดับดี (M = 131.96, S.D. = 19.70) นอกจากนี้จำนวนวันนอนในโรงพยาบาล
และการสอนก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพร้อมก่อนจำหน่ายออกจาก
โรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r = .254 และ .798 ตามลำดับ) ส่วนการให้ความหมายเกี่ยวกับ
การเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์ทางลบกับความพร้อมก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่
ระดับ .01 (r = -.328)
ผลการศึกษาเสนอแนะว่า พยาบาลควรตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมก่อน
จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยการมีระบบการให้ความรู้การดูแลตนเอง การปฏิบัติตัวเพื่อ
ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ปรับเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละรายและเหมาะสมกับระยะเวลาการ
นอนในโรงพยาบาลที่ถูกจำกัดและสั้นลง พร้อมกับหากลยุทธ์ในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการรับรู้และให้ความหมาย
การเจ็บป่วยของตนเองในทางบวก เพื่อช่วยส่งเสริมความพร้อมก่อนจำหน่ายได้ดียิ่งขึ้น

คำสำคัญ: ความพร้อมก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล/ จำนวนวันนอนในโรงพยาบาล/การให้ความหมาย
เกี่ยวกับการเจ็บป่วย/ การสอนก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล/ผู้ป่วยกระดูกขาหักชนิดปิดที่ได้รับ
การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกภายใน

ภาพประกอบ  Woman photo created by tirachard – www.freepik.com

ลิงค์สำหรับนำไปเผยแพร่: https://www.vachiraphuket.go.th/links/gbds