ศูนย์ดูแลบาดแผล | Excellent Wound Care Center
ให้บริการดูแลผู้ป่วยที่มีแผลเฉียบพลัน/แผลเรื้อรัง ได้แก่
ให้บริการผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจ วินิจฉัย และรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว โดยมีหน่วยงานให้บริการประกอบด้วย
- คลินิกศูนย์ดูแลบาดแผล รับปรึกษาเรื่องแผลจากหน่วยตรวจโรคต่าง ๆ โดยไม่จำกัด เพศ อายุ ทั้งกลุ่มที่มีการนัดหมายล่วงหน้า และกลุ่มที่รับปรึกษามาใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีแผล คือการที่ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ป้องกันความพิการจากการที่แผลลุกลาม จนมีความจำเป็นจะต้องตัดอวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้อง และป้องกันการเกิดแผลซ้ำ
- คลินิกทวารเทียม รับผิดชอบให้คำปรึกษาและคำแนะนำก่อน-หลังผ่าตัด รวมไปจนถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับถุงรองรับอุจจาระ-ปัสสาวะ เป็นศูนย์เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารความรู้เกี่ยวกับทวารเทียม เป็นศูนย์กลางให้ผู้ป่วยและญาติ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลทวารเทียม มีกลุ่มจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และเผยแพร่งานการดูแลทวารเทียมต่อไป
- คลินิกสุขภาพเท้าและเล็บ รับผิดชอบการตรวจคัดกรองและดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้า เล็บ และหลอดเลือดแดง รวมถึงพิจารณารองเท้าให้กับผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกตัดนิ้วและเท้า รวมถึงตัดเล็บเท้าเบาหวานให้ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถตัดเล็บได้ถูกวิธี
Debridement การรักษาโดยใช้วิธีการตัดเนื้อตาย รวมถึงนวัตกรรมใหม่ คือ การตัดเนื้อตายด้วยเครื่องแรงดันน้ำสูง (Hydro Surgery) ที่จะช่วยให้ตัดเนื้อตายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นลดการสูญเสียเนื้อเยื่อโดยไม่จำเป็น
เครื่องออกซิเจนแรงดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy-HBOT) เป็นวิธีการรักษาซึ่งให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ในเครื่องปรับแรงดันสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่เนื้อเยื่อ ที่ขาดเลือดได้ดีขึ้น
Negative Pressure Wound Therapy (NPWT) หรือ Vacuum Assisted Closure (VAC system) เป็นอุปกรณ์ทําแผล ภายใต้ระบบสุญญากาศใช้ร่วมกับการดูแลแผล ที่ไม่สามารถเย็บปิดได้ ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น มีทั้งชนิดที่เป็นเครื่องติดผนังและเครื่องที่สามารถพกพาได้
Bioplasma therapy เป็นการรักษาโดยใช้หลักการพลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดการแตกตัวของมวลโมเลกุลของอากาศ ได้แก่ ออกซิเจน ไนโตรเจน และละอองไอน้ำในอากาศ มีการแตกประจุและปลดปล่อยพลังงาน โฟตอน อนุมูล อนุภาคต่างๆ และสนามแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งออกฤทธิ์ทางชีวเคมีและฟิสิกส์ ต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะจุลชีพ ทำให้เกิดการทำลายหรือหยุดยั้งจุลชีพโดยไม่มีอันตรายต่อเนื้อเยื่อ บาดแผล หรือเซลล์ เนื่องจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมีการควบคุมพลาสมาให้เย็นจนไม่มีอันตราย สามารถฆ่าเชื้อโรคและเชื้อดื้อยาต่างๆ รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของเซลล์ให้สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่
Laser therapy เป็นการรักษาโดยใช้เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser) รักษาแผล เพื่อกระตุ้นการซ่อมแซมและสร้างคอลลาเจน (Collagen) ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
Infrared therapy เป็นการรักษาโดยการใช้เครื่องอินฟราเรดนำความร้อนส่งผ่านไปยังเนื้อเยื่อ อย่างสม่ำเสมอครอบคลุมบริเวณที่เป็นแผล การส่งผ่านของรังสีอินฟราเรดระยะไกล จะทะลุลงไปในชั้นของเนื้อเยื่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างของเนื้อเยื่อ เมื่อรังสีอินฟราเรดระยะไกลถูกดูดซึม เกิดการส่งผ่านความร้อนขึ้นในเนื้อเยื่อ จึงทำให้เกิดจากกการปล่อยสารเคมี Histamine ออกมา มีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว เมื่อหลอดเลือดขยายตัว ระบบโลหิตก็จะไหลเวียนอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้เลือดเดินทางไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้มากขึ้น และการไหลเวียนที่ดีจะช่วย ลดภาวะเลือดคลั่ง, ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น, เป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น, ช่วยรักษาอาการอักเสบเรื้อรัง
Pressure mapping system เพื่อช่วยวิเคราะห์การลงน้ำหนัก การกระจายแรงเฉือน/แรงกด เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษา และป้องกันการเกิดแผลกดทับ
img:https://www.indiamart.com/welantechnologies/pressure-mapping-systems.html
Vascular evaluation ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการประเมินหลอดเลือดโดยการตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยการคลำชีพจรหลังเท้าและข้อเท้า และทำ ABI (Ankle Brachial Pressure Index)
Compression therapy การใช้ผ้าพันรัดรอบแขนขาเพื่อลดอาการบวมที่เกิดจากความ ผิดปกติของหลอดเลือดดำและน้ำเหลือง โดยการพันผ้ายืด (elastic bandage) ให้มีแรงบีบที่ข้อเท้าได้มากกว่า 15 mmHg ซึ่งเป็นแรงบีบที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการหายของแผล การพันผ้าที่ถูกวิธีนอกจากจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันการเกิดแผลซ้ำได้
Trim Callus การตัดหนังหนามีความสำคัญมากในการป้องกันการเกิดแผล neuropathic ulcer
Off-loading การลดแรงกดที่แผลและการป้องกันแผล เป็นส่วนสำคัญในการรักษาแผล และทำร่วมกับการรักษาแผล การลดแรงกดที่แผลประกอบด้วย total contact cast (TCC) หรือวิธี non-weight bearing โดยพิจารณาความความเหมาะสมกับผู้ป่วย
Rehabilitative services การทำรองเท้าพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นการลดการเกิดปัญหาแผลเบาหวานเป็นซ้ำ
Diabetic education การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวานเพื่อดูแลตนเองช่วยลดการเกิดแผลได้
Nutritional management การหายของแผลเกี่ยวข้องอย่างมากกับภาวะโภชนาการ การให้โภชนาการที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมกระบวนการหายของแผลให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Pain management การจัดการความปวดถือเป็นหัวใจของการดูแลผู้ป่วยที่มีแผลทุกชนิดไม่ว่าเป็น Acute, chronic หรือ cancer pain การจัดการความปวดทุกครั้งจะต้องบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อให้ได้ ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยในทุกด้าน ทั้งการรักษาทางกาย ทางใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย
หน้าที่และเป้าหมาย (Purpose)
- ศูนย์ดูแลบาดแผล มีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการดูแลผู้ป่วยที่มีแผลเฉียบพลัน/แผลเรื้อรัง ได้แก่ แผลเบาหวาน แผลหลอดเลือดดำ แผลติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึกถึงระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (Necrotizing fasciitis) แผลหลอดเลือดแดง แผลเส้นประสาทเสื่อม แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลมะเร็ง Ostomy ควบคุมการขับถ่าย รวมถึงคัดกรองและตัดเล็บเท้าเบาหวาน รับส่งต่อการรักษาผู้ป่วยจากจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พังงา ระนอง กระบี่ สุราษฎร์ โดยครอบคลุมถึงกระบวนการทั้งหมดให้สอดคล้องตามพันธกิจของโรงพยาบาล เพื่อมุ่งสู่ Safety Hospital และการเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Center of Excellence) ระดับประเทศ
เป้าหมาย
- การให้บริการพยาบาลด้านแผลที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ
- มีผลผลิตทางวิชาการพยาบาลเกี่ยวกับแผลและมีการถ่ายทอดความรู้ในระดับชาติและนานาชาติ
บุคลากร
ความเป็นมา
แผลเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยพบได้ทั้งในโรงพยาบาล บ้าน และชุมชน มีการคาดการณ์ ว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการในโรงพยาบาลจากแผลมีมากร้อยละ 50 ทั้งแผลเฉียบพลัน แผลเรื้อรัง แผลเบาหวาน แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลกดทับ แผลรูทะลุ เป็นต้น บางรายต้องรับการรักษานาน หายจากโรคที่เป็นอยู่ช้าลง บางรายต้องสูญเสียอวัยวะ โดยเฉพาะหากมีการติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แผลยังเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการถาวร ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้ป่วยและครอบครัว ยังส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ใน 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง สตูล และตรัง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้มีผู้คนเสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จากรายงานผู้ประสบภัยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่าง ๆ พบปัญหา ความยุ่งยากซับซ้อนในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการจัดการและการดูแลแผล เมื่อผู้ป่วยมารับการดูแลแผล ส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลเบื้องต้นโดยพยาบาล กลุ่มการพยาบาล ได้เล็งเห็นว่าหากสามารถเพิ่มสมรรถนะและศักยภาพของวิชาชีพพยาบาลในการดูแลแผลผู้ป่วยได้ ก็จะเป็นกำลังสำคัญของทีมในการดูแลแผลและบรรเทาความทุกข์ทรมานจากแผลของผู้ป่วยได้ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจึงส่งบุคลากรเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านการพยาบาลอนุสาขาการพยาบาลผู้ป่วยบาดแผล ออสโตมีและควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีการศึกษา วิจัย เพื่อพัฒนาการดูแลแผลมากมายทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การปรับปรุงแนวทางการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ เพื่อหวังผลไม่ให้เกิดความพิการ ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ฟื้นฟูสมรรถภาพ และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วย แต่ในทางปฏิบัติยังมีผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางที่ควรจะเป็น
ปี 2553 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้จัดตั้งศูนย์ดูแลบาดแผลขึ้น โดยอาศัยพื้นที่ของอาคารรัตนโกสินทร์ 200 ปี ชั้น 2 ปรับปรุงและดัดแปลงพื้นที่ของห้องผู้ป่วย ให้เหมาะสมสำหรับการให้บริการ ด้วยพื้นที่ของศูนย์ดูแลบาดแผลในขณะนั้น จึงไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการในแต่ละวันได้อย่างเพียงพอ
ปี 2560 คุณประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการโรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป มอบเงินจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ดูแลบาดแผลโดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน และพัฒนาคุณภาพการดูแลแผลอย่างต่อเนื่อง และมีจุดมุ่งหมายสู่การเป็น Excellent Wound Care Center
ญาติไม่ต้องกังวล ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อระบุประเภทของแผลและปัญหาที่ทำให้เกิดแผล โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และสหสาขาที่มีประสบการณ์ โดยปรับให้เหมาะกับความต้องการของผู้ป่วยโดยเฉพาะ จะเริ่มตามตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด