หทัยรัตน์ รังสรรค์สฤษดิ์ (พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลป่าตอง จังหวัดภูเก็ต)

การวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการมาฝากครรภ์ล่าช้า กว่า 12 สัปดาห์ของหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรก ประชากรคือ หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรกในสถานบริการของรัฐ เขตอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ในปีงบประมาณ 2561 และไม่มี ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ จำนวน 900 ราย ใช้สูตรการคำนวณกลุ่มตัวอย่างจากสูตรของการศึกษา แบบภาคตัดขวางของ Schlesselman ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 220 ราย ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลคือ แบบสอบถามประกอบด้วยคุณลักษณะส่วนบุคคล ความรู้ของหญิงตั้งครรภ์ ทัศนคติของหญิงตั้งครรภ์แบบบันทึกข้อมูลการฝากครรภ์ ทดสอบคุณภาพของแบบสอบถาม โดย แบบสอบถามผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน และนำไปทดลองใช้ เพื่อวิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟ่าครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ 0.922 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Chi-square แสดงค่า P-value ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรกล่าช้ากว่า 12 สัปดาห์ร้อยละ 46.80 โดยอายุครรภ์เฉลี่ยเท่ากับ 13.90 สัปดาห์ (S.D.=7.477, Max=38, Min=2) มีตัวแปรที่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ประกอบด้วย อายุ (P-value=0.047), ระดับการศึกษา (P-value=0.015),การประกอบอาชีพ (P-value=0.050), รายได้เฉลี่ยของหญิงตั้งครรภ์ต่อเดือน (P-value=0.001), จำนวนสมาชิกในครอบครัว (P-value=0.006) และประวัติการเคยแท้งบุตร (P-value=0.045) สำหรับความรู้ของหญิงตั้งครรภ์ และทัศนคติของหญิงตั้งครรภ์พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับความล่าช้าในการมาฝากครรภ์ครั้งแรกของหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ในสถานบริการของรัฐเขตอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
(P-value=0.267, P-value=0.578 ตามลำดับ)

คำสำคัญ: ความล่าช้า,หญิงตั้งครรภ์, การฝากครรภ์ครั้งแรก

ภาพประกอบจาก People photo created by valeria_aksakova – www.freepik.com

ปรับปรุงเมื่อ 22 เมษายน 2021 เวลา 12:14:42

ลิงค์สำหรับนำไปเผยแพร่: https://www.vachiraphuket.go.th/links/bn80