ผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตในสตรีหลังแท้งบุตร
MENTAL HEALTH OUTCOMES AND QUALITY OF LIFE IN WOMEN AFTER ABORTION

พว. กฤตพร เมืองพร้อม, พย.บ.

การแท้งบุตรเป็นเหตุการณ์ชีวิตที่สามารถก่อให้เกิดภาวะบีบคั้นทางจิตใจได้ การวิจัยเชิงพรรณา แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive research) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ ด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตระหว่างสตรีที่แท้งเองครั้งแรกและสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำ เลือกกลุ่มตัวอย่างสตรี จำนวน 114 คน จากผู้ป่วยที่เข้ารับการดูแลรักษาที่หอผู้ป่วยนรีเวชกรรม โรงพยาบาลวชิระภูก็ต ในช่วงเดือน มิถุนายน–พฤศจิกายน 2563 เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทุกคนโดยใช้ 1) แบบประเมินอาการวิตกกังวล และอาการซึมเศร้าฉบับภาษาไทย (THAI-HADS) และ 2) ประเมินคุณภาพชีวิตโดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิตชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (THAI SF-26)วิเคราะห์ข้อมูลภูมิหลังของผู้ร่วมวิจัยและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต โดยใช้สถิติเชิงพรรณาและการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่ม โดยใช้สถิติ independent samples t-test และ Chi-square

ผลการวิจัย พบว่า ในกลุ่มตัวอย่างสตรีหลังแท้งบุตร จำนวน 114 คน เป็นสตรีที่แท้งเองครั้งแรก จำนวน 83 คน และสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำ จำนวน 31 คน ทั้งสองกลุ่มมีลักษณะภูมิหลังทางสังคมคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม สตรีที่แท้งเองครั้งแรกมีภาวะบีบคั้นทางจิตใจสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำ สตรีที่แท้งเองครั้งแรก [ค่าเฉลี่ย (SD)] คะแนนอาการวิตกกังวล เท่ากับ 5.00 (3.67) เทียบกับ 4.62 (3.19), P < .001; และค่าเฉลี่ย (SD) คะแนนอาการซึมเศร้า เท่ากับ 5.06 (4.46) เทียบกับ 4.92 (3.48), P = .002] นอกจากนี้ สตรีที่แท้งเองครั้งแรกมีระดับคะแนนคุณภาพชีวิตต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านสุขภาพกาย (p < .001) ด้านจิตใจ (p < .001) ด้านสิ่งแวดล้อม (p < .001)  และด้านสุขภาพโดยรวม (p < .001)  ยกเว้นด้านสัมพันธภาพทางสังคมที่มีคะแนนสูงกว่าเล็กน้อย (P = .044)

โดยสรุปแล้ว ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสตรีที่แท้งเองครั้งแรกด้อยความสามารถในการทำหน้าที่ต่างๆ อย่างมาก เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน หน้าที่ทางสังคม และทำให้มีระดับคุณภาพชีวิตลดลง เมื่อปรียบเทียบกับกลุ่มสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำ ผลการศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญสำหรับการดูแลรักษาสตรีหลังแท้งบุตรและให้ข้อเสนอแนะว่าจำเป็นต้องให้การดูแลรักษา และการปรึกษาที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปแก่สตรีที่มีภาวะเสี่ยงต่อการแท้งทุกราย

 

คำสำคัญ: การแท้งเอง, ภาวะแท้งซ้ำ, คุณภาพชีวิต, อาการวิตกกังวลและซึมเศร้า, ภาวะบีบคั้นทางจิตใจ

ภาพประกอบ : Love photo created by user18526052 – www.freepik.com

ปรับปรุงเมื่อ 24 พฤษภาคม 2021 เวลา 08:48:57

ลิงค์สำหรับนำไปเผยแพร่: https://www.vachiraphuket.go.th/links/wszi