ตอนที่ 144 “โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)”
.
(ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2565)
———————————–
.
สถานการณ์ทั่วโลกของโรคฝีดาษลิงจนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 จากองค์การอนามัยโลกได้รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงยืนยันจำนวนอย่างน้อย 92 รายใน 16 ประเทศและมีรายที่สงสัยอีกอย่างน้อย 28 ราย ในสหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้ว 57 รายตั้งแต่พบรายแรกในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ผู้ติดเชื้อทั้งหมดนี้ยังไม่พบว่ามีรายใดถึงแก่กรรม องค์การอนามัยโลกพบว่า การระบาดหลังวันที่ 13 เดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา มีผู้ที่ติดเชื้อจาก 16 ประเทศและเป็นผู้ที่ไม่ได้กลับมาจากการไปเที่ยวในแหล่งที่เป็นแดนระบาดของโรคฝีดาษลิง ส่วนมากพบในเพศชายและเป็นผู้ที่ไปรับการตรวจรักษาที่คลินิกที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเพศ จึงเกิดสมมติฐานว่า เชื้อจะติดต่อจากการสัมผัสร่างกายของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดขณะมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายรักร่วมเพศ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2546 การระบาดในสหรัฐอเมริกาโดยมีผู้ติดเชื้อ 47 ราย เกิดจากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือไปทำความสะอาดกรงที่เลี้ยงสัตว์ที่ติดเชื้อคือ Prairie dog หรือ “กระรอกดิน” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีฟันแทะ กระรอกดินนี้ป่วยโดยมีอาการน้ำมูกไหล ขี้ตาแฉะ มีแผลที่ขอบตาหรือรูจมูก และมีต่อมน้ำเหลืองโต การระบาดครั้งนั้นก็ไม่มีผู้ใดถึงแก่กรรม อธิบดีกรมควบคุมโรคของไทยแจ้งว่า ทั่วโลกพบผู้ป่วยแล้วจากหลายประเทศ แต่จะเน้นการตรวจสอบชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร สเปน และ โปรตุเกส แต่ที่ต้องระวังมากคือ ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ภายในระยะเวลา 21 วัน
โรคนี้ระบาดเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน ก่อนจะพบผู้ป่วยนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร อิตาลี แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ ทำให้หลายประเทศในโลกต้องกลับมาเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย
.
#วิธีการติดต่อของโรค เกิดจากการสัมผัสหนูหรือสัตว์ที่ใช้ฟันแทะหรือสิ่งคัดหลั่งที่มีเชื้อปนเปื้อนในน้ำในตุ่มพองใสหรือขุ่นหรือรอยแผลขนาดเล็กที่ผิวหนังติดกับเยื่อบุผิวหนัง แล้วเชื้อเข้าทางผิวหนังของผู้ป่วยที่มีบาดแผล เยื่อบุนัยน์ตาหรือเยื่อบุจมูก หรือทางเดินหายใจจากการสูดดมได้ การติดต่อจากคนสู่คนยังพบน้อยมากเพราะต้องอยู่ใกล้ชิดกันนานหลายชั่วโมง การระบาดในแอฟริกากลางและตะวันตกเกิดจากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น หนู กระต่าย กระรอก ลิง เม่นและเนื้อทราย หรือจากการฆ่าหั่นเนื้อสัตว์ที่ป่วยหรือกินเนื้อสดหรือดิบที่ปรุงยังไม่สุก มีรายงานของการติดต่อจากคนสู่คนภายในสมาชิกในบ้านเดียวกันในประเทศคองโกในการระบาดปี พ.ศ. 2539 ถึง 2540 พบว่ากลุ่มชนกลุ่มนี้อยู่ร่วมกันอย่างแออัด สุขอนามัยไม่ดี และไม่ได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแล้ว อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 22 รายต่อ 1,000 ประชากรในการระบาดครั้งนี้ในประเทศนี้ อย่างไรก็ตาม การติดต่อโดยทั่วไปในอดีตพบว่าไม่ได้เกิดขึ้นง่ายดาย ไม่ติดต่อง่ายเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือโรคโควิด-19 และผู้ติดเชื้อส่วนมากมีอาการไม่รุนแรง สามารถควบคุมการระบาดได้ง่าย
เนื่องจากการระบาดในเดือนพฤษภาคมปีนี้พบมากขึ้นในกลุ่มชายรักร่วมเพศ จึงมีการศึกษาว่า โรคนี้สามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ด้วยวิธีที่เชื้ออาจจะออกมาจากแผลขนาดเล็กที่เยื่อบุหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของผู้ป่วยและส่งเชื้อเข้าทางแผลหรือเยื่อบุผิวหนังของผู้รับเชื้อ หรือเกิดจากการสัมผัสร่างกายโดยทั่วไปของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อรายใหม่รับเชื้อเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลขนาดเล็กโดยไม่รู้ตัว
.
#โดยสรุป โรคฝีดาษลิงยังมีการระบาดในกลุ่มคนชาวต่างประเทศนอกประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศยังจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้แต่น่าจะควบคุมโรคได้ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมการรับมือไว้แล้วโดยเฉพาะด้านการรับผู้ป่วยและการสอบสวนโรคดังที่เคยทำได้อย่างดีมากในโรคโควิด-19 มาแล้ว ประชาชนคนไทยรับทราบข้อมูลการระบาด แหล่งที่อาจจะแพร่เชื้อให้ตนเอง และทราบวิธีป้องกันตนเอง แม้ประเทศไทยจะเปิดประเทศต้อนรับคนต่างชาติ คนไทยก็ยังไม่น่าวิตกกังวลในเรื่องนี้ ความรู้ ความร่วมมือและความไม่ประมาทของคนไทยจะทำให้โรคฝีดาษลิงไม่ระบาดในประเทศไทย และเชื่อว่าหากมีผู้ป่วยเข้ามาในประเทศไทย เราจะควบคุมโรคฝีดาษลิงนี้ได้โดยเร็วที่สุด
.
บทความโดย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี
กรรมการแพทยสภา และ รองอธิการบดี ม.สยาม
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
.
 
ลิงค์สำหรับนำไปเผยแพร่: https://www.vachiraphuket.go.th/links/hdel