วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือ รักษาพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี และได้รับการดูแลต่อเนื่องอย่างถูกต้อง ปลอดภัย
2. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูง อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อลดการเกิดทุพพลภาพและการสูญเสียชีวิต จากการดำน้ำ

 ขั้นที่  1   การตรวจ/ประเมินอาการผู้ป่วย

1.1 Rescue
* นำผู้ป่วยออกจากน้ำหรือบริเวณที่มีอันตราย เพื่อที่จะให้การรักษาอย่างทันท่วงที ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจาก ร้อยละ70 ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดำน้ำ พบว่าระยะเวลาระหว่างเกิดเหตุจนกระทั่งผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม มักจะกินเวลานานกว่า 15 นาทีทำให้ผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือล่าช้าและประสบกับความสูญเสีย
* ซักประวัติผู้ป่วย ณ ที่เกิดเหตุ หรือตรวจสอบ จากสมุดบันทึกการดำน้ำ หรือจาก Dive computer
ว่าการเจ็บป่วยเกี่ยวข้องกับการดำน้ำหรือไม่
* ดูแลอุปกรณ์ดำน้ำให้อยู่ในสภาพเดิม ห้ามปลดหรือถอดออก เพื่อตรวจสอบสาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ดำน้ำหรือไม่ ­
1.2.  Resuscitation
* การตรวจประเมินอาการและให้การรักษาเบื้องต้นเพื่อช่วยชีวิตตามหลัก ABCs คือ Airway, Cervical spine control , Breathing, Circulation และ Disabilities ซึ่งรวมถึง neurological status

ขั้นที่ 2   การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
2.1.  Posture    ท่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้บาดเจ็บจากการดำน้ำ คือการนอนหงายราบ บางที่อาจแนะนำให้ นอนตะแคงซ้าย เพื่อป้องกันฟองก๊าซ ที่อาจจะเกิดขึ้นใน venous system และหลุดเข้าไปใน arterial circulation ผ่านทาง patent foramen ovale ในหัวใจและกลายเป็น embolism ต่อไปได้
2.2.  Oxygen     ให้ออกซิเจน 100% กับผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากการดำน้ำทุกราย ก่อนที่จะส่งตัวไปรับการรักษาต่อ เพราะการให้ออกซิเจน 100 % มีผลทำให้ความแตกต่างของแรงดัน (pressure gradient) ระหว่างไนโตรเจนในร่างกายและปอดสูงขึ้น ทำให้มีการกำจัดไนโตรเจนออกจากร่างกายได้มากขึ้น
2.3. IV Fluid  ควรให้สารน้ำชนิด isotonic ในผู้ป่วยที่บาดเจ็บหนักทุกราย โดยให้ NSS 1000 ซีซี ทางหลอดเลือดดำทันที และหลังจากนั้นต่ออีก 1 ลิตรทุกๆ 4 ชั่วโมง อาจปรับเปลี่ยนอัตราเร็วของการให้สารน้ำได้ตามปริมาณปัสสาวะและความดันโลหิต สารน้ำที่ให้ไม่ควรมีส่วนประกอบของน้ำตาล เนื่องจากภาวะ hyperglycemia   อาจทำให้มี cerebral injury  มากขึ้น   ในรายที่รู้สึกตัวดีให้ดื่มน้ำมาก ๆ
2.4.  ให้ความอบอุ่นร่างกายกับผู้ป่วย
2.5.  สวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยกรณีปัสสาวะไม่ได้

ขั้นที่ 3 การติดต่อประสานงาน

1.  ติดต่อประสานงานกับสถานพยาบาลที่มีห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูง เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษา
2. แจ้งประวัติการเจ็บป่วยและอาการของผู้ป่วยให้สถานพยาบาลที่จะส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาทราบ พร้อมทั้งขอคำปรึกษาแนะนำ ระหว่างการนำส่งผู้ป่วย
3.  รีบส่งผู้ป่วยไปรับการรักษายังห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยด่วน

ขั้นที่ 4 การส่งต่อผู้ป่วย

Transportation  ผู้ป่วยที่เป็น DCS และ AGE จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วย hyperbaric chamber อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

4.1. ประสานงานขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการหรือเอกชน ผ่าน 1669 ในการขอรับการสนับสนุนยานพาหนะ
4.2. การส่งต่อผู้ป่วยทางเรือเร็ว (SPEED BOAT)
4.3. การส่งต่อผู้ป่วยโดยรถพยาบาลที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต พร้อมเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแลตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด
4.4. การส่งต่อผู้ป่วยทางเครื่องบิน หากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ควรเป็นเครื่องบินชนิดที่สามารถปรับแรงดันบรรยากาศภายในเครื่องให้อยู่ที่ระดับ 1 บรรยากาศได้ หรือถ้าเป็นเฮลิคอปเตอร์ควรใช้เพดานบินไม่เกิน 1,000 ฟุต เพราะการขึ้นสู่ที่สูงเกิน 1,000 ฟุต  จะทำให้ฟองอากาศขยายขนาด อาการของโรครุนแรงขึ้น
วัตถุประสงค์ของการรักษาผู้ป่วยโรคจากการดำน้ำ  ด้วย Hyperbaric Oxygen Therapy
1.  ลดขนาดฟองก๊าซที่สะสมอยู่ในร่างกายให้เล็กลง
2.  ส่งเสริมประสิทธิภาพในการละลายของก๊าซกลับสู่กระแสเลือดและออกจากร่างกายทางการหายใจ
3.  เพิ่มปริมาณออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อส่งเสริมการคืนสภาพของเนื้อเยื่อจากการขาดออกซิเจน

ผลสำเร็จของการรักษาโรคจากการดำน้ำด้วยห้องปรับบรรยากาศฯ ขึ้นอยู่กับ

  1. การให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ 100 % ทันทีที่เกิดเหตุ
  2. การให้สารน้ำที่ไม่มีกลูโคสได้อย่างรวดเร็ว
  3. การนำส่งไปยังห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงได้ภายใน 6 ชม.หลังเกิดอาการ

กลุ่มโรคที่ต้องทำการรักษาด้วยห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูง 
1.  Decompression  Sickness   Type   1   และ   Type   2
2.  Arterial Gas Embolism
3.  พิษจากก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ที่มีอาการรุนแรง

ลิงค์สำหรับนำไปเผยแพร่: https://www.vachiraphuket.go.th/links/hdwr