ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจในผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี
ใน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
FACTORS AFFECTING RESPIRATORY INFECTED DISEASES AMONG CHILDREN UNDER THE AGE OF FIVE AT VACHIRA PHUKET HOSPITAL

พว.มาลี ทองมี, พย.บ.

บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive research) ที่ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้ ผู้ปกครองที่มีเด็กอายุ 0 – 5 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าป่วยด้วยโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 – เดือนกันยายน 2563 ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 279 คนซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งได้ทำการทดสอบคุณภาพของแบบสอบถามเรื่องความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อระบบหายใจในเด็ก มีค่า KR20 เท่ากับ 0.82 และการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อในระบบหายใจในเด็ก มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.86 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Independence t-test และ One Way ANOVA

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนบน( 52.3)  รองลงมาคือ โรคปอดบวม (31.9) และ โรคหลอดลมอักเสบ (15.8) ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจ พบว่า ปัจจัยเกี่ยวกับครอบครัว ได้แก่ความสัมพันธ์กับผู้ป่วย อายุของบิดา/มารดา ระดับการศึกษา อาชีพของบิดา/มารดา ประวัติผู้มีภูมิแพ้และโรคหอบหืดในครอบครัว  ประวัติของผู้สูบบุหรี่ในครอบครัว  ปัจจัยเกี่ยวกับเด็ก ได้แก่ เพศ อายุ น้ำหนักแรกคลอด ความถี่ในการป่วยด้วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และปัจจัยเกี่ยวกับความรู้โรคติดเชื้อระบบหายใจในเด็ก การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อในระบบหายใจในเด็ก และพฤติกรรมการดูแลเด็กที่มีการติดเชื้อในระบบหายใจ ไม่มีผลต่อการเกิดการติดเชื้อของระบบหายใจ  ส่วนปัจจัยรายได้ของครอบครัวต่อเดือน                (p-value = .006) ปัจจัยด้านประวัติการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของมารดาขณะตั้งครรภ์ (p-value = .000) และประวัติการได้รับวัคซีนครบตามกำหนด (p-value = .032)  มีผลต่อการเกิดการติดเชื้อของระบบหายใจ  ในเด็ก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05

ข้อเสนอแนะ การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของมารดาขณะตั้งครรภ์ สามารถลดโอกาสเสี่ยงหรือป้องกันการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ ได้มากกว่า มารดาที่ไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขณะตั้งครรภ์ทุกราย และกระตุ้นให้ผู้ปกครองพาบุตรเข้ารับวัคซีนให้ครบตามที่กำหนด

เอกสารแนบ

ปรับปรุงเมื่อ 15 มีนาคม 2021 เวลา 12:09:46

ลิงค์สำหรับนำไปเผยแพร่: https://www.vachiraphuket.go.th/links/amk8