กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ

หลักสูตรเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 

แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน คือแพทย์ที่ทำงานในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน ที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือภาวะฉุกเฉินจากโรคต่างๆ ดังนั้นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถให้การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ให้พ้นวิกฤติในช่วงเวลาจำกัดที่ห้องฉุกเฉินได้  แต่ภาวะฉุกเฉินไม่ได้เกิดที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่การดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลเช่นที่เกิดเหตุ บ้าน ท้องถนน หรือระหว่างการส่งต่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลย่อมมีความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าการเดินทางด้วยรถ เรือ หรือเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ดังนั้นบทบาทของแพทย์ฉุกเฉิน จึงต้องมีความเข้าใจพื้นฐานของร่างกายต่อสภาวะต่างๆ ที่อาจส่งผลในการรักษาขณะลำเลียงผู้ป่วย

นอกจากนี้การเกิดเหตุจลาจล ภัยคุกคามจากธรรมชาติหรือมนุษย์กระทำ การจัดการอุบัติภัยหมู่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากแพทย์สาขาอื่น

จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่เป็นทั้งเกาะและแผ่นดิน การเดินทางมีหลายรูปแบบเช่น รถยนต์ เรือลำใหญ่ เรือเร็ว  มีความหลากหลายของประชากร เช่น ประชากรดั้งเดิม ประชากรต่างจังหวัดที่ย้ายมาทำงาน และชาวต่างด้าว และที่สำคัญนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และจากเหตุการณ์ภัยคุกคามธรรมชาติ สึนามิเมื่อปี 2548 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า อัตราการเกิดภาวะฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ โรคต่างๆ หรือโรคติดต่อ มีแนวโน้มสูงขึ้น  และปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยธรรมชาติอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2560 กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบายให้มีแพทย์ฉุกเฉิน 2.4 คนต่อประชากร 100,000  คน ซึ่งในปี พ.ศ. 2560  มีประชากรทั้งหมดประมาณ 65,931,000 คน ดังนั้นจึงต้องการแพทย์ฉุกเฉินประมาณ 1,580 คน แต่ในปัจจุบันมีแพทย์ฉุกเฉินประมาณ 700 คนทั่วประเทศ  รับราชการในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 170  คน ดังนั้นการเพิ่มการผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และการธำรงรักษาให้แพทย์ฉุกเฉินอยู่ในระบบ จึงมีผลต่อระบบการสาธารณสุขในประเทศ